วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2558

Community Farm : ชุมชนเกษตร คำตอบของทุกปัญหาการดำรงชีพ ตอนที่ 2

โดยสภาพสังคมแบบปัจเจกตัวใครตัวมันนั้น ผมพบว่าแต่ละบ้านต้องแบกต้นทุน แบกภาระ แบกสิ่งต่างๆคล้ายๆกัน แต่ไม่สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ เพราะความเป็นปัจเจกตัวใครตัวมัน กำลังในแต่ละด้านที่จะรับมือปัญหาของแต่ละครอบครัวก็ไม่เท่ากัน บางครอบครัวขาดแคลนบีบคั้น อับจนหนทาง บางครอบครัวมีทุกอย่างจนล้นเกิน จนกลับกลายเป็นการสร้างความละโมบโลภมากไป ต่างคนต่างอยู่แบบนี้ไม่เรียกว่าเป็นสังคมมนุษย์นะครับ ทุกวันนี้เรามีชีวิตคล้ายหมูในฟาร์มมากกว่า เพราะมีแต่การบริโภค แต่ไม่มีการวิวัฒน์ในเชิงสังคมหรืออารยธรรมอย่างแท้จริง

แต่ลองนึกภาพว่าถ้าเรารวมทรัพยากรและกำลังความสามารถของแต่ละคนเข้าด้วยกัน ทำงานบนพื้นที่เดียวกัน เป็นรูปแบบชุมชนเกษตร โดยมาอยู่รวมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถ่ายทอดความรู้ให้แก่กันและกันอย่างเปิดเผย ไม่ปิดบัง สร้างความเข้มแข็งในการพึ่งพาตนเอง ภาระที่แต่ละครอบครัวต้องรับจะถูกหารเฉลี่ย ถูกแบ่งเบาลงไปตามจำนวนคน แบ่งงานกันตามความถนัดและกำลัง มีการสั่งสมถ่ายทอดและส่งต่อภูมิปัญญาไปในแต่ละรุ่น กระจายความรู้และภูมิปัญญาออกไปให้เป็นสมบัติสาธารณะ มีเป้าหมายเพื่อชีวิต เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมมากว่าที่จะทำเพื่อเงินและตนเอง

ลองนึกภาพของชุมชนเกษตรที่เมื่อเราตื่นเช้ามาในบ้านที่เราช่วยกันสร้างขึ้นเอง(อาจจะเป็นบ้านดินหรือบ้านไม้) ออกแบบและตกแต่งจากวัสดุธรรมชาติ โดยสมาชิกที่มีความรู้เรื่องการออกแบบภายใน สถาปัตย์ สมาชิกที่มีทักษะเชิงช่าง บ้านทุกหลังถูกลงแขกสร้างขึ้นโดยไม่ต้องใช้เงินมากมาย ไม่ต้องมีสมาชิกคนไหนจะต้องกู้เงินและเป็นทาสหนี้ไปอีก 30 ปี แถมเรายังสามารถออกแบบภูมิทัศน์องค์รวมของชุมชนให้สวยงามน่าอยู่ได้อีกด้วย

เมื่อภูมิทัศน์สวยงาม อากาศดี การมีบ้านใหญ่โตก็ไม่จำเป็น บ้านหลังเล็กๆที่ใกล้ชิดกัน พอมีระยะห่าง จะช่วยให้เราไม่ต้องหมกมุ่นหรืออุดอู้อยู่แต่ในบ้านอีก เมื่อสภาพแวดล้อมดีแล้วก็จะช่วยให้สมาชิกไม่อยากจะออกไปลำบากหรือแสวงหาความสุขข้างนอกชุมชนอีก แค่นี้ก็ทำให้ลดปัญหาต่างๆไปได้เยอะแล้ว

เมื่อทุกคนตื่นขึ้นมาแล้ว ก็จะมีสมาชิกส่วนหนึ่งรับผิดชอบในการทำอาหารจากผลผลิตในสวนในไร่ที่ปลอดสารพิษ ไม่ต้องซื้อหาให้เป็นภาระ เมื่อทานอาหารปลอดสารพิษแล้ว สุขภาพก็จะดี ไม่เจ็บป่วย ความเจ็บป่วยที่เคยได้รับมาจากระบบงานและพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ผิดเพี้ยนก็จะค่อยๆหมดไป ร่างกายเป็นสิ่งที่รักษาตัวเองได้ถ้าไม่ไปทำร้ายมันอีก แค่นี้ก็ลดภาระเรื่องค่ารักษาพยาบาลลงไปได้จนเกือบหมด หรือถ้าเจ็บป่วยขึ้นมา เราก็มีภูมิปัญญาพื้นบ้าน กับสมุนไพรที่เราสามารถปลูกเองและรักษาตัวเองได้ ไม่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำเตรียมเงินเอาไว้รองรับความเจ็บป่วยยามแก่ที่มันไม่เคยพอเลย

สมาชิกบางส่วนก็ออกไปทำสวนทำไร่ โดยอิงหลักการของเกษตรธรรมชาติ หรือวิถีของ Permaculture ที่เน้นให้ธรรมชาติดูแลกันเองเพื่อลดงานและภาระลงให้เหลือน้อยที่สุด ให้ธรรมชาติทำงานแทนเราให้มากที่สุด ซึ่งการได้อยู่กับธรรมชาติอย่างใกล้ชิดก็จะทำให้มีสุขภาพกายและใจแข็งแรง ไม่ตึงเครียด

สมาชิกบางส่วนก็แบ่งเวลาไปสอนเด็กๆในชุมชนให้มีพื้นฐานความรู้ในการพึ่งตัวเอง ฉลาดทันโลกทันเล่ห์เหลี่ยมของระบบ เรียนรู้ให้เท่าทันโลกจากสื่อต่างๆ และลงมือทำจริงเพื่อจะได้พึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง และเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นไปในตัว ไม่ใช่หมกมุ่นอยู่แต่กับเกมและมือถือจนทำอะไรไม่เป็นอย่างในปัจจุบัน

สมาชิกบางส่วนก็ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้กับแขกที่มาเยี่ยมเยือน หรือจัดอบรมสำหรับบุคคลภายนอกเป็นการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาในการพัฒนาต่อยอดเพื่อเกื้อกูลของสังคม และเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายการช่วยเหลือเกื้อกูลกันให้กว้างขวางออกไป

ซึ่งความมั่นคงจะเกิดขึ้นก็ตรงนี้เอง ยิ่งเครือข่ายพึ่งพาตนเองไปได้กว้างไกลมากเท่าไหร่ ความมั่นคงโดยรวมก็จะมากขึ้นเท่านั้นโดยแทบไม่ต้องใช้เงินเลย

เมื่อชุมชนเกษตรดำเนินการในลักษณะเปิดให้คนภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ การเกื้อกูลก็จะตามมา บุคคลภายนอกอาจจะเข้ามาอาศัยกินอยู่เพื่อเรียนรู้ทำงานแบ่งเบาภาระชุมชนไปพร้อมๆกัน หรือเปิดรับสมาชิกใหม่ๆเข้ามาตามสมควร เพื่อให้เกิดพลวัตรในการพึ่งพาตนเอง ซึ่งเมื่อคนในชุมชนแก่ชราลง ไม่มีแรงทำงานหนัก สมาชิกรุ่นใหม่ๆหรือบุคคลที่เข้ามาอบรมก็จะมีส่วนเข้ามาช่วยเหลือให้ชุมชนเกษตรดำเนินต่อไปได้ คงไม่มีใครเอาสมบัติที่เป็นของโลกไปกับตัวตอนตายได้หรอกครับ จริงไหม

นอกจากนั้นก็มีสมาชิกบางส่วนก็ช่วยงานทำบัญชี ดูแลด้านเทคโนโลยีที่จำเป็น ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน สิ่งก่อสร้าง วางแผนงานสำหรับชุมชนและการเกษตร มีผู้เชี่ยวชาญด้านแพทย์ทางเลือก คอยดูแลสุขภาพโดยรวมของสมาชิก ซึ่งความรู้ทั้งหมดนี้ก็ควรเปิดสู่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนและวิวัฒน์ไปพร้อมๆกัน จะได้นำมาดูแลซึ่งกันและกันได้ ไม่ผูกขาดเอาไว้แต่เพียงผู้เดียวเพื่อหากำไรเช่นในระบบทุนนิยม

และเมื่อทางชุมชนมีผลผลิตเหลือเฟือ ก็สามารถแจกจ่ายแบ่งปันไปให้ชุมชนข้างเคียง หรือนำไปเกื้อกูลผู้ที่เดือดร้อนได้ตามกำลัง และสามารถแปรรูปขายได้ในราคาถูก คิดกำไรแต่พอเหมาะ เป็นไปเพื่อบรรเทาความบีบคั้นทางเศรษฐกิจของสังคมโดยรวม เพราะกำไรที่แท้จริงคือสังคมที่อยู่กันด้วยความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล

ส่วนของทรัพยากรอื่นๆก็สามารถใช้ร่วมกันได้โดยไม่ต้องมีกันทุกคน อย่างเช่น เราไม่จำเป็นต้องซื้อรถให้ครบทุกครอบครัว ไม่ว่าเครื่องมือช่าง หรือวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ไม่บ่อย ก็สามารถซื้อด้วยกองทุนรวมและเก็บรักษาในพื้นที่กลางของชุมชนได้

นอกจากนั้น แนวทางชุมชนเกษตรยังแก้ปัญหาเรื่องขยะและมลพิษให้หมดไปได้มาก เพราะไม่มีการใช้ถุงพลาสติกหรือภาชนะใช้แล้วทิ้งอื่นๆ ไม่มีของเหลือ เพราะสามารถนำกลับไปทำปุ๋ยแห้งและปุ๋ยน้ำได้เกือบหมด ลดปัญหามลพิษจากสารเคมี ไม่ต้องเจอรถติด ไม่ต้องสูดควันพิษ ไม่ต้องผ่อนสิ่งต่างๆเพื่อมาเป็นภาระยาวนาน

ซี่งทั้งหมดนี้ จะทำให้เรา ใช้เงินน้อยลงๆ พึ่งพาตนเองได้มากขึ้น ช่วงแรกอาจจะยากสักหน่อย เพราะศักยภาพของเราได้ถูกลดทอนลงไปเหลือเพียงแค่การเป็นผู้บริโภค แต่เมื่อทำไปนานๆก็จะเข้ารูปเข้ารอยไปเอง ปรับตัวเข้าหากันไปเอง ด้วยแนวทางนี้ทุกคนไม่จำเป็นต้องมีรายได้อะไรมากมายเลย จริงๆเรียกว่าแทบไม่ต้องใช้เงินเลยด้วยซ้ำไป แต่สมาชิกทุกคนจะมีความมั่นคงอยู่เองจากสิ่งที่ทำได้ ผลิตได้ด้วยตนเอง ส่วนหนึ่งที่คนสมัยนี้รู้สึกไม่มั่นคงก็เพราะ ทุกอย่างต้องซื้อบริโภคเอาหมด ทำเองไม่ได้สักอย่าง ลึกๆแล้วจึงมีแต่ความหวั่นไหวไม่มั่นคงอยู่ตลอดเวลา

และยิ่งสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่ทุกประเทศมีหนี้สินล้นพ้นตัว จ้องจะก่อสงคราม ทำสงครามล้างหนี้กันตลอดเวลา แม้แต่การเงินก็ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธในการถล่มฝ่ายตรงข้าม จนทรัพย์สินเงินทองทั้งหลายกลายเป็นความสุ่มเสี่ยงไม่มั่นคง บ่งบอกอย่างชัดเจนแล้วว่าระบบเศรษฐกิจเดิมๆจะไปไม่รอดในที่สุด ดังนั้นการพึ่งพาตนเอง มีกินมีใช้ เกื้อกูลกันและกันได้ บนผืนดินที่ให้ชีวิต น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้ว

Community Farm : ชุมชนเกษตร คำตอบของทุกปัญหาการดำรงชีพ ตอนที่ 1
Community Farm : ชุมชนเกษตร คำตอบของทุกปัญหาการดำรงชีพ ตอนที่ 3(จบ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น