วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เนื้อหาและหลักการของหมู่บ้านพอ ตอนที่ 3 : สัจธรรมแห่งหมู่บ้านพอ

จริงๆแล้วชื่อหมู่บ้านพอนั้นก็บ่งบอกชัดเจนอยู่แล้วว่า สัจธรรมของหมู่บ้านพอก็คือความ "พอ"

ซึ่งคำว่า "พอ" นั้น ไม่ใช่พอเพียง พอก็คือพอ พอโดยธรรมชาติของมัน ไม่ใช่พอในแบบที่เอาตัณหาตนเป็นประมาณ อย่างนั้นทำเท่าไหร่ก็ไม่พอ

การเกิดขึ้นของหมู่บ้านพอนั้น ไม่เหมือนแนวทางปกติของระบบเศรษฐกิจพอเพียงหรือเกษตรพอเพียงของที่อื่นสักเท่าไหร่ ตรงที่เราไม่ได้ดิ้นรนที่จะรวยอะไรตั้งแต่ต้น ไม่ได้ดิ้นรนจะมีที่ยืนในระบบเศรษฐกิจ ไม่ได้ทำเพื่ออุดมการณ์สูงส่งอะไร เพียงแต่เราแค่มองหารูปแบบที่เรียบง่าย ที่จะรองรับธรรมชาติที่มันพออยู่ในตัวมันเอง ลดทอนวงจรกรรมให้สั้นลงไม่ต้องเข้าไปพัวพันสาละวนต่อสู้เรียกร้องอะไรมาก และรองรับธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่ได้ต้องการอะไรฟุ้งเฟ้อมากมายอย่างที่หลงกันอยู่ในปัจจุบันเลย


พูดง่ายๆว่าเราไม่ได้ต้องการอะไรเกินเลยไปกว่าการแค่อาศัยบนโลกใบนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้น ก็ใครเล่าจะอยู่เลยวันตายของตน จริงไหมครับ

และโดยธรรมชาติของสรรพสิ่ง สรรพชีวิตทั้งหลายที่กลมกลืนกันเป็นหนึ่งเดียว เกื้อกูล เปลี่ยนแปลง และเสื่อมสลายไปตามเหตุปัจจัย การดิ้นรนเพื่อที่จะดำรงอยู่ เพื่อตอบสนองตัณหาแห่งตน เพื่อความพอสำหรับตัณหาแห่งตนจึงเป็นเหตุแห่งทุกข์ การปิดกั้นปิดบังตัวเองออกจากสภาพแวดล้อมทั้งหลายก็ก่อให้เกิดทุกข์มากมาย ก่อให้เกิดภาระ(กรรม)มากมาย ที่เราต้องแบก ต้องเฝ้า ต้องสะสม ต้องดิ้นรน ต้องเบียดเบียน ต้องฆ่าฟัน มันยุ่งมากเสียจนเราไม่สามารถที่จะมีชีวิตจริงๆได้เลย นอกจากการเป็นทาสของตัณหาตัวเอง ต้องสร้างความมั่งคั่งส่วนที่เกินพอดีให้คนอื่นและตัวเอง ต้องสาละวนบำเรอตัณหาของตนเองไปจนตาย ซึ่งจริงๆความต้องการจอมปลอมเหล่านี้ ก็เป็นอุปาทานที่คนอื่นยัดเยียดให้เราเชื่ออย่างนั้นเสียมากกว่า

ตั้งแต่เด็กแล้ว เราถูกยึดเยียดความเชื่อว่าจะต้องเรียนหนังสือเก่งๆ หางานดีๆทำ ทำงานหนัก เก็บเงินเยอะๆ มีบ้านหลังใหญ่ๆ มีครอบครัวอันอบอุ่น มีลูกหลานเต็มบ้าน มีกิจการใหญ่โตเพื่อกอบโกยความมั่งคั่งเอามาไว้กับตัว จนกลายเป็นวงจรหนูถีบจักรเช่นนี้ไม่รู้จักจบสิ้น พอมีเงินมีอำนาจขึ้นมาหน่อยก็ให้คนอื่นมาวิ่งถีบจักรให้

สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราจริงๆ มันไม่ได้เป็นไปตามค่านิยมคำสอนที่กรอกหูกันต่อๆมาจากรุ่นสู่รุ่นเลย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจริงนั้น คือความยากลำบาก ความซับซ้อนสับสน ความกดดัน ความอึดอัดคับแคบ ความเบียดเบียน ทำร้ายทำลายกันทั้งทางตรงและทางอ้อม การโกหกหลอกลวง ที่เราทำตัวเราเองและทำกับเพื่อนร่วมโลกเพื่อที่จะให้ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ซึ่งเราเชื่อว่าจะนำความสุขมาให้ แต่มันก็ไม่เคยมีใครมีความสุขจากสิ่งเหล่านี้จริงเลยแม้แต่สักคนเดียว การได้มาด้วยการเบียดเบียนมักจะมีวิบากกรรมความคับแค้นของผู้ที่ถูกเบียดเบียนเจือปนมาด้วยทุกครั้ง

ไม่เชื่อลองไปสังเกตดูว่าเมื่อเราได้อะไรสักอย่างที่เราอยากได้มา ไม่นานเลยที่เราจะเริ่มรู้สึกดีกับมันน้อยลงจนกลายเป็นเฉยๆ จนกลายเป็นเบื่อในที่สุด นี่คือความไม่คงทนของอารมณ์ชั่วครู่ชั่วคราวที่เราเร่งจะสนองมันอยู่ตลอดเวลาไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย สัจธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นกับทุกสิ่งในชีวิตของทุกคน หากใครสังเกตเห็นความอนิจจัง ความไม่เที่ยงเหล่านี้ จิตก็จะเริ่มรู้สึกธรรมดากับมัน มันก็แค่ผ่านมาผ่านไป มีค่าก็เพียงชั่วคราว ตัณหาก็จะค่อยเบาบางลง จนที่สุดมันก็จะหมดตัวดิ้นรนไปเอง พอในทุกๆสภาวะไปเอง เมื่อตัณหาเบาบางไม่มีตัวหลงตั้งเอาขับดันตัณหา มันก็จะพอไปเอง

ประเด็นอยู่ตรงที่ แม้เราจะพอแล้ว จบแล้วก็ตาม แต่เมื่อเราอยู่ในกระแสโลกที่เต็มไปด้วยการดิ้นรน ตั้งเอา และวิ่งแข่งกันอย่างเอาเป็นเอาตาย รวมถึงความสลับซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจที่เป็นเงื่อนไขบีบให้เราต้องวิ่ง ต้องเบียดเบียน ต้องแก่งแย่งแข่งขัน ต้องเคร่งเครียดเอาจริงเอาจัง จนชีวิตไม่เป็นชีวิต แถมยังไม่สามารถหยุดหรือพอได้เลย เราจึงมองหารูปแบบการอยู่อาศัยมารองรับ รูปแบบที่พึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก ตัดวงจรความบีบคั้นดิ้นรนออกไป ตัดเงื่อนไขการบีบคั้นให้เราต้องวิ่งออกไป ตัดวงจรการเบียดเบียนแก่งแย่งแข่งขันออกไป เพื่อจะได้มีที่เหลือพอสำหรับชีวิต และเมื่อมีที่ให้กับชีวิต การเกื้อกูลสรรพชีวิตอื่น ความสร้างสรรอย่างอื่นจะตามมาเอง

ลองนึกดูนะครับว่า เราอยู่กันในสังคมมนุษย์จริงๆหรือ? หรือว่าเรากำลังอยู่ในสังคมเดรัจฉาน ที่มีแต่ความเบียดเบียน การฆ่าฟันกัน การเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน การโกหกหลอกลวงทั้งในระดับบุคคลและสาธารณะ การฉ้อฉลเอาจากน้ำพักน้ำแรงผู้อื่น ความยากจนข้นแค้น ความขาดแคลนอันเป็นผลของการแพ้เกมการแข่งขัน และความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมเกินตัวของมนุษย์ชนิดที่แม้แต่เทวดายังอาย การใช้อำนาจในทางมิชอบในการฉ้อฉลผลประโยชน์เอาจากคนส่วนใหญ่

ที่ว่ามาทั้งหมดนั้นชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เราไม่ได้อยู่กันในสังคมมนุษย์อีกแล้ว แต่เราอยู่กันในนรกบนดิน ที่เราสร้างขึ้นมาเอง แล้วก็ติดกับดักมันเสียเอง

ซึ่งเราจะไปแก้ที่ระบบใหญ่คงเป็นไปไม่ได้ เพราะผู้คนจำนวนมากเสพติดต่อสิ่งมอมเมานี้ ก็คงต้องปล่อยให้เรียนรู้ด้วยตัวเองถึงความเป็นจริง แต่สิ่งที่เราทำได้ก็คือ การเป็นแบบอย่างในการดำรงอยู่เฉกเช่นที่มนุษย์ควรจะเป็น ซึ่งถ้าไม่สร้างแบบอย่างขึ้นมา คนที่มองเห็นแต่ระบบอย่างเดียวก็จะนึกไม่ออก ไปไม่เป็นว่าจะเริ่มยังไง

สังคมมนุษย์นั้นควรจะอยู่ด้วยการเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ตระหนักถึงการเป็นส่วนเล็กๆส่วนหนึ่งของโลก ตระหนักถึงการเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เราไม่ใช่เจ้าของธรรมชาติ เราเกิดมาเพียงแค่อาศัยโลกนี้อยู่เท่านั้น ไม่ใช่การเกิดมาเพื่อเป็นเจ้าโลกยิ่งใหญ่อะไร ถ้าเราเพียงตระหนักถึงความจริงได้เช่นนี้ วิถีชีวิตเราก็จะเริ่มเปลี่ยนไปเองเพื่อสอดคล้องกับสภาวะจิตที่เปลี่ยนไป เราก็จะไม่ต้องไปเรียกร้องแสวงหาสันติภาพที่ไหนอีก ไม่ต้องเรียกร้องความเป็นธรรมจากใครหรือจากองค์กรไหนอีก ไม่ต้องทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ต้องขัดแย้ง ไม่ต้องเอารัดเอาเปรียบ ไม่ต้องเข่นฆ่าทรมานกันแบบไร้สาระเช่นในปัจจุบัน

นี่คือปฐมเหตุที่ทำให้เกิดหมู่บ้านพอ ซึ่งแตกต่างจากต้นแบบระบบเศรษฐกิจพอเพียงในที่อื่นๆ ซี่งเราจะเน้นไปที่ความกลมกลืนไปกับระบบนิเวศน์และระบบของธรรมชาติมากกว่าที่จะตอบสนองเชิงเศรษฐกิจที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำลายโลกนี้อย่างรวดเร็ว

อย่าไปกลัวสิ่งใหม่ๆครับ เพราะไอ้ที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันนี่ มันใกล้จะล่มสลายแล้ว บรรพบุรุษของเราเคยอยู่กันมานานก่อนที่จะเกิดระบบเศรษฐกิจแบบในปัจจุบัน ซึ่งแนวโน้มที่ระบบเศรษฐกิจกำลังทำลายโลกและอารยธรรมของมนุษย์ด้วยการบริโภคอันบ้าคลั่งเช่นนี้ ยังไงเสีย สถานการณ์ก็คงจะบีบให้เราเริ่มต้นใหม่อย่างแน่นอน และเราก็คงจะไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องไปรักษามันเอาไว้ด้วยครับ

ทุกอย่างก็ปล่อยให้มันเสื่อมสลายไปเอง แล้วมาเริ่ม "พอ" กันเสียที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น