วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

เนื้อหาและหลักการของหมู่บ้านพอ ตอนที่ 2 : ระบบเศรษฐกิจแบบเกื้อกูล

งานหนึ่งงานอาจจะยากสำหรับปัจเจกชน แต่ถ้ารวมกันงานใหญ่ง่ายนิดเดียว แถมแต่ละคนก็กินกันแค่ 3 มื้อเอง
ทุกวันนี้เราอยู่กับผลพวงของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เปิดเสรีให้เกิดการกอบโกย เอารัดเอาปรียบ เบียดเบียนกันอย่างเสรี ทำให้คนส่วนใหญ่ที่ไม่มีกำลัง ไม่มีอำนาจ ไม่มีปัญญา ต้องตกอยู่ในความคับแค้น อดอยาก กลายเป็นคนชายขอบ กลายเป็นปัญหาสังคมที่มีแต่คนบ่นคนรังเกียจ โดยไม่รู้ว่าคนที่บ่นหรือรังเกียจเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาสังคมในทางอ้อมเช่นกัน

สังคมทุกวันนี้จึงมีแต่คนที่โดดเดี่ยวและทำเพื่อตัวเองท่ามกลางผู้คนมากมายที่แย่งกันอยู่แย่งกันกิน ซึ่งถึงที่สุดแล้วมันก็จะลำบากกันถ้วนหน้าเพราะมันมีแต่จะเดินไปสู่ความคับแคบขาดแคลน ยกเว้นก็แต่นายทุนระดับมหาเศรษฐีและเหล่าเศรษฐีเพียงไม่กี่คนบนโลกนี้เท่านั้น


ก็คงจะต้องย้อนกลับไปถามนะครับว่า ระบบที่คนส่วนใหญ่ต้องตกระกำลำบาก ปากกัดตีนถีบ และดิ้นรนร้อนรนอยู่ตลอดเวลา เพียงเพื่อทำงานหนักให้คนไม่กี่คนร่ำรวย และสามารถพูดได้อย่างไม่อายปากว่า เขามีอิสรภาพทางการเงินแล้ว อย่างนี้มันถูกต้องไหม มันใช่ระบบที่ออกแบบมาเพื่อมนุษย์หรือออกแบบมาเพื่ออะไร

สำหรับพวกเราแล้ว ระบบที่เปิดให้เอารัดเอาเปรียบกันอย่างเสรีเช่นนี้ ไม่ใช่ระบบสำหรับสังคมมนุษย์ครับ เราเกิดมาก็อยู่กันไม่เกิน 100 ปี เดี๋ยวก็ตายแล้ว ไม่ว่าจะมีลูกหลานอีกกี่คนก็จะตายเหมือนกันหมด จะกอบโกยเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบเพื่อสร้างนรกขึ้นบนโลกกันทำไม นี่คือสัจธรรมความเป็นจริง

เหตุนี้เองเราจึงต้องค้นหาระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ที่คนจำนวนมากจะถูกบีบให้ต้องกลายเป็นคนชั้นล่าง คนไร้บ้าน และคนจนในระบบทุนนิยม ซึ่งถ้าไม่มีทางเลือกเพื่อผ่อนคลายความคับแค้นที่จะเกิดขึ้นนี้ สังคมมนุษย์จะถึงกาลล่มสลายอย่างแน่นอน คนรวยก็จะเดินถนนไม่ได้ อาชญกรรมจะเต็มบ้านเต็มเมือง กฏหมายก็จะบังคับใช้ไม่ได้ เพราะกฏหมายเองก็เขียนขึ้นโดยผู้มีอำนาจและมีเอาไว้ให้เอาเปรียบผู้ด้อยโอกาส ไม่ใช่กฏหมายเพื่อมวลชนแต่อย่างใด

จริงๆการถกเถียงเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจแบบใหม่นี้ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งมีนะครับ ในต่างประเทศ โดยเฉพาะชาติตะวันตก เขาก็มีการถกเถียงกันเพื่อหาทางออก หรือบางกลุ่มถึงกับเริ่มทำเป็นตัวอย่างขึ้นมาแล้วในหลายรูปแบบ เช่น การรวมตัวอาศัยกันในรูปแบบ Community Farm เพื่อการพึ่งพาตนเองตั้งแต่เรื่องการศึกษา พลังงาน อาหารการกิน ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค ซึ่งสามารถพึ่งตัวเองได้หมดโดยไม่ต้องพึ่งระบบทุน ระบบไร่สวนชุมชนแบบนี้ในเมืองไทยก็เริ่มมีแล้วหลายแห่ง

โครงการอาหารฟรีเริ่มแล้วในอเมริกา
นอกจากหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ยังกระเตาะกระแตะอยู่ในเมืองไทยแล้ว ก็ยังมี ระบบเศรษฐกิจที่เรียกว่า Gift Economy ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใช้การให้การแบ่งปันเป็นหลัก ตัวอย่างโครงการที่อยู่ในลักษณะของ Gift Economy ก็เช่นโครงการ Food is Free Project ที่ผู้คนต่างก็นำอาหารพืชผลที่ตนเองผลิตได้แต่เหลือกินเหลือใช้มาใส่กล่องหรือตะกร้าวางไว้หน้าบ้านเพื่อให้คนที่เดินผ่านไปมาได้หยิบเอาไปรับประทาน เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชนและสามารถลดความกดดันทางเศรษฐกิจที่มีแต่การแก่งแย่งของปัจเจกชนจำนวนมากได้เป็นอย่างดี

Gift Economy เราสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีใครถูกทิ้งอยุ่เบื้องหลัง ต่างการระบบทุนแบบแพ้คัดออกอย่างมาก แล้วคนที่ถูกคัดออกเขาจะไปอยู่ตรงไหนถ้าไม่ใช่โลกใบเดียวกับเรา
นอกจากนี้ยังมีแนวทางของหมู่บ้านโลก (Global Village) ที่เป็นการรวมตัวของผู้คนหลากหลายอาชีพในการสร้างระบบนิเวศน์ในการแบ่งปันทรัพยากร องค์ความรู้แบบเปิด เป็นลักษณะของ Open-source Ecology ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การอยู่ร่วมกันบนโลกอย่างสันติและเกื้อกูลกัน โดยไม่มุ่งเรื่องการแข่งขันเข่นฆ่าเอาเป็นเอาตายชนิดใครดีใครอยู่เหมือนรูปแบบธุรกิจส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งแนวทางนี้ก็ก่อให้เกิดเป็นระบบเศรษฐกิจแบบ Open-source Economy ขึ้นและกำลังเป็นแนวโน้มใหม่ที่กำลังมาแรง เพราะมีคนส่วนหนึ่งในโลกเริ่มตระหนักแล้วว่า ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนั้นก่อให้เกิดการทำลายล้างโลกและสิ่งแวดล้อมมากเกินไป แถมยังก่อให้เกิดความเบียดเบียนและไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจอย่างมากจนก่อให้เกิดปัญหาสังคมและปัญหาเศรษฐกิจตามมาอีกมากมาย ซึ่งจะเป็นสาเหตุหลักของการล่มสลายของระบบทุนในอีกไม่นาน

ส่วนระบบเศรษฐกิจแบบเกื้อกูลของหมู่บ้านพอนั้นก็มีแนวทางคล้ายๆกับระบบเศรษฐกิจหลากหลายแนวทางตามที่ยกตัวอย่างมาในเบื้องต้น คือเราจะใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐาน เน้นไปที่การให้การแบ่งปันการเกื้อกูลแบบไม่มีเงื่อนไขเป็นหลัก เพื่อลดความกดดันและความบีบคั้นในสังคม สร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน สร้างเครือข่ายแห่งการแบ่งปัน ทั้งในรูปแบบของแรงงาน องค์ความรู้ และทรัพยากรที่จะทำให้ทุกคนอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้เงินหรือใช้ให้น้อยที่สุดฃ

เราไม่ปฏิเสธเงิน แต่เราจะปฏิบัติต่อเงินเป็นเพียงตัวกลางแลกเปลี่ยนเท่านั้น และให้มันมีอิทธิพลหรือเงื่อนไขต่อชีวิตเราให้น้อยที่สุดหรือไม่ให้มีผลกระทบเลยในที่สุด

นิโคลัส เทสลาตายก่อนจะมอบระบบสร้างพลังงานฟรีแก่โลก ไม่เช่นนั้น เราคงจะไม่ต้องซื้อไฟฟ้าและน้ำมันใช้ไปแล้ว
ทุกวันนี้อำนาจต่างๆถูกรวมศูนย์อยู่ที่ภาครัฐและภาคเอกชนรายใหญ่ที่กุมทรัพยากรส่วนใหญ่ของประเทศเอาไว้ ซึ่งอำนาจเหล่านี้ทำให้การเมืองและเศรษฐกิจบิดเบี้ยวและเอนเอียงไปในทางที่ผู้คนส่วนใหญ่เสียประโยชน์มาช้านาน ทำให้ผู้คนพึ่งพาตนเองไม่ได้ รากเหง้าของอารยธรรมมนุษย์ถูกทำลาย ศักยภาพในตัวมนุษย์เสื่อมถอย ต้องเอาชีวิตมาพึ่งพาระบบการค้าแบบผูกขาดอันไม่ยั่งยืนแทน ทำให้ต้องซื้อทุกอย่างตลอดเวลา กลายเป็นผู้บริโภคที่คอยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจเพื่อความมั่งคั่งของคนจำนวนน้อย และต้องดิ้นรนหนีความจนราวกับเล่นเก้าอี้ดนตรี และผลิตขยะพิษมากมายที่ไม่รู้จะจัดการกับมันยังไง ซึ่งมนุษย์ไม่สมควรที่จะต้องอยู่ในสังคมอันมีฐานจากการเบียดเบียนโลกและเบียดเบียนกันเองเช่นนี้

ลองนึกภาพของสังคมแบบหมู่บ้านพอ ทุกคนมีกินมีใช้ด้วยการแบ่งปัน เริ่มจากชุมชนเกษตรยั่งยืนที่สามารถผลิตอาหารได้(เน้นว่าสังคมของหมู่บ้านพอ จะต้องผลิตอาหารเองได้นะครับ ถึงจะพึ่งตัวเองได้จริง) ก็ต้องเริ่มจากตรงนั้น เมื่ออาหารถูกแบ่งปันออกมา ทำให้ทุกคนมีกินมีใช้ มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันทุกทาง เมือไม่มีใครกังวลเรื่องปากท้อง ทุกคนก็จะทำงานเพื่อเกื้อกูลส่วนรวม คนในหมู่บ้านลงแขกกันก่อสร้างบ้าน สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สร้างถนน สร้างระบบไฟฟ้า ให้มีใช้อย่างพอเพียงไม่ใช่อย่างฟุ่มเฟือย คนที่มีพรสวรรค์ในการสอนและถ่ายทอดศาสตร์ต่างๆ รวมกันสอนหนังสือ ฝึกการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ช่วยกันทำไร่ ทำนา ทำสวน ทำงานในด้านต่างๆโดยเรียนรู้จากของจริง มีแพทย์ทางเลือกที่ดูแลเรื่องสมุนไพรและการรักษาโรค มีการแบ่งปันข้อมูล มีการถ่ายทอดและอบรมศาสตร์ต่างๆเพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้องค์ความรู้ได้แพร่กระจาย พัฒนาและงอกงาม เพื่อประโยชน์ของคนในสังคมทุกคนโดยไม่มีใครผูกขาดเอาไว้เป็นสิทธิ์ของตนในการหาผลประโยชน์

เราจะอยู่กันแบบไม่แบ่งเราแบ่งเขาได้ก็ต้องเลิกแบ่งแยกกันก่อน ก็ต้องเริ่มจากการให้การสละ มันจะออกจากความคับแคบแห่งปัจเจกไปเอง
เวลาที่จะต้องเดินทางไปไหนมาไหนก็สามารถไปพักกับคนในท้องถิ่นนั้นๆราวกับเป็นญาติสนิทมิตรสหาย ร่วมแบ่งปันการเดินทางกันได้ ไม่ต้องใช้เงินมาก โดยที่คนส่วนใหญ่ไม่ต้องเดินทางไกลเพราะสามารถทำงานและใช้ชีวิตที่บ้านได้เลย ไม่มีการรวมศูนย์อำนาจแต่อย่างใด ไม่ต้องเดินทางไปทำงานไกลๆ ให้เปลืองน้ำมัน และทรัพยากรในการสร้างถนน สร้างทาง มลพิษก็ลดลง เราสามารถทำให้บริเวณบ้าน ชุมชน และชุมชนใกล้เคียง มีสภาพที่สวยงามน่าอยู่ ด้วยการออกแบบจากผู้เชี่ยวชาญที่ลงมาเกื้อกูลในแต่ละชุมชน คนที่มีความรู้ด้านต่างๆก็ช่วยกันออกแบบหมู่บ้าน ออกแบบสภาพแวดล้อม สร้างให้มันน่าอยู่และยั่งยืนโดยไม่ต้องพึ่งพาสินค้าหรือบริการจากระบบอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษมากมายเช่นปัจจุบัน

เมื่อระบบเศรษฐกิจเริ่มจากการให้ การแบ่งปัน การเสียสละ มันจะกลายเป็นแบบอย่างที่คนรุ่นหลังๆเดินตามมาเอง ไม่ต้องไปนั่งทะเลาะกันเพื่อกำหนดแนวทางอะไรอีก เพราะเราทำทุกอย่างให้สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว มันจะไม่ต้องไปขัดแย้งอะไรกันอีก ปัญหาเรื่องคนจนจะหมดไป เพราะมายาคติเกี่ยวกับความรวมความจนจะไม่มี ปัญหาอาชญกรรมจะหมดไป ปัญหาเรื่องคนชายขอบจะหมดไป ไม่มีใครต้องวิ่งหาเงินเยอะๆเพื่อมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลพ่อแม่หรือตนเองในยามแก่อีกต่อไป เพราะทุกคนไม่ได้ทำงานเพื่อตนเองอีกแล้ว จึงมีเวลามาทำเพื่อชุมชนเพื่อส่วนรวมและมี "ชีวิต" ได้เต็มที่ ไม่ต้องรอเจ้านาย ไม่ต้องรอบริษัท ไม่ต้องพึ่ง GDP ไม่ต้องพึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเมื่อทุกคนทำงานเพื่อส่วนรวม ความเครียด ความกังวล ที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคทางกาย และปัญหาโรคทางจิตทั้งหลายอันเกิดจากความบีบคั้นกดดันจะหมดไป จะไม่มีสื่อที่ถุกสร้างมากระตุ้นความอยากให้เราต้องเดือดร้อนดิ้นตามอีก ความอัตคัดขาดแคลนจะหมดไป จะไม่มีใครที่สามารถดึงบดูดความมั่งคั่งจากคนอื่นไปกระจุกอยู่ที่ตัวเองได้อีกต่อไป เมื่อทุกคนไม่ตั้งเอาประโยชน์ตนเป็นหลัก ก็จะไม่มีใครเอาสารพิษมาใส่ในอาหารเราอีก สิ่งแวดล้อมต่างๆจะฟื้นคืนสภาพเองอย่างช้าๆ ปัญหาสังคมโดยรวมก็จะค่อยๆหมดไปเอง โลกนี้จะไม่มีคนอดอยากถ้าเรารู้จักพอ

เมื่อแนวทางหมู่บ้านพอกระจายออกไปอย่างกว้างขวางในสังคม กลายเป็นเครือข่ายแห่งการแบ่งปันเต็มรูปแบบ เราจะมีองค์ความรู้แบบ Open-source หรือ Creative Commons(ลิขสิทธิ์ในการใช้ผลงานการสร้างสรรค์ของเจ้าของสิทธิ์แบบไม่เป็นไปเพื่อการค้าขาย) ที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ของทุกคน ซึ่งจะยิ่งทำให้ชีวิตของผู้คนง่ายขึ้น มีเวลาที่จะไปคิดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆมากขึ้นแทนที่จะต้องอยู่กับความเครียดในการดิ้นรนหาสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อชีวิต เมื่อไม่มีความทุกข์ ทุกคนก็จะไม่ต้องแสวงหาความสุขอีก และเมื่อไม่ต้องใช้ทุนในการขับเคลื่อน เราก็ไม่ต้องวิตกกังวลที่จะหาเงินมาโปะทุนแต่อย่างใด วิถีแห่งการเป็นหนูถีบจักรก็จะหมดลง ทุกคนก็จะได้ใช้ชีวิตจริงๆกันเสียที ไม่ใช่เอาอารมณ์ความกังวลมาเป็นสรณะแห่งอารมณ์เช่นปัจจุบัน

ซึ่งแนวทางเศรษฐกิจแบบเกื้อกูลของหมู่บ้านพอนั้น ไม่ได้เอาระบบเศรษฐกิจหรือหน่วยธุรกิจเป็นหลัก แต่มันถูกคิดมาจากพื้นฐานสัจธรรมและธรรมชาติเดิมของมนุษย์ที่เน้นการให้ การเกื้อกูล การเสียสละต่อส่วนรวมเพื่อสลายอัตตาตัวตนที่ก่อให้เกิดความคับแคบและเบียดเบียนในสังคมอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และเพื่อฟื้นคืนสังคมมนุษย์เพื่อมนุษย์อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อผลกำไรหรือทำเพื่อผลประโยชน์ของหน่วยธุรกิจเล็กๆเท่านั้น

แต่บอกไว้ก่อนว่าเราไม่ใช่สังคมนิยม ไม่ใช่คอมมูนิสต์ ไม่ใช่อนาธิปไตย ไม่ใช่เผด็จการ เราเป็นแค่มนุษย์ธรรมดาๆเท่านั้น

ถึงตรงนี้อาจจะมีคนแย้งขึ้นมาว่าถ้าไม่มีแรงจูงใจในการสร้างผลงานแล้ว เราจะมีสิ่งใหม่ๆใช้กันหรือ?

ถ้ามองแบบนี้ก็ยังอาจจะแคบไป เพราะคนเก่งๆที่ต้องการทำเพื่อส่วนรวมยังมีอยู่เยอะ คนที่รู้สึกว่าระบบเศรษฐกิจทุนนิยมมันมีความวิปริตแฝงอยู่ก็มาก เพียงแต่ไม่มีโอกาสที่จะแสดงตัว เพราะการแข่งขันมันสูง ต้นทุนมันสูง แถมสิ่งที่คนเหล่านี้คิดขึ้น ดันไปทำลายตลาดของสินค้าและบริการแบบเดิมๆที่ผูกขาดกินเลือดกินเนื้อผู้คนมาช้านาน พอคิดอะไรทำอะไรออกมาแล้วก็มักจะถูกกีดกันขัดขวางไม่ให้ได้ผุดได้เกิด เพื่อนายทุนคนเดิมจะได้หากินกับสิ่งเดิมๆต่อไป

ส่วนคนที่คิดสิ่งต่างๆในเชิงการค้า จริงๆก็ไม่ได้ช่วยให้สังคมมนุษย์ดีขึ้นมากอย่างที่คิด สถิติเกี่ยวกับการพัฒนาและความสุขของประชาชนนี้ถูกเก็บรวบรวมและสรุปมาแล้วว่าคนในประเทศร่ำรวยไม่ได้มีความสุขมากขึ้นเมื่อชีวิตดีขึ้นเกินจุดพอดี และมันก็ไม่ได้เกี่ยวกับการที่มีเงินเยอะๆด้วย

นอกจากนั้นสิ่งประดิษฐ์เชิงการค้านั้น ส่วนใหญ่จะถูกกั๊กระดับของเทคโนโลยีเอาไว้เป็นขั้นๆเพื่อหากินยาวๆ กระตุ้นให้เกิดการบริโภคอย่างไม่จำเป็นอยู่เรื่อยๆกับสินค้ารุ่นใหม่ๆ คนดีๆที่พยายามจะทำเพื่อมนุษยชาติ ยกตัวอย่างเช่น นิโคลัส เทสลาที่คิดค้นระบบพลังงานฟรีมาตั้งนานแล้ว และตั้งใจจะเป็นของขวัญให้แก่มนุษยชาติโดยไม่คิดมูลค่า แต่เมื่อมันไม่สามารถทำให้เกิดผลประโยชน์กับนายทุนรุ่นเก่าที่ควบคุมเรื่องพลังงานเอาไว้ เทสลาจึงถูกกดดันบีบคั้นทางด้านการเงินและการงานอย่างช้าๆ จนสิ่งที่เขาคิดประดิษฐ์ขึ้นต้องกลายเป็นหมันและตัวเขาเองต้องตายลงอย่างอนาถาในที่สุด

หรืออีกตัวอย่าง เช่นรถพลังงานไฮโดรเจนที่ใช้น้ำเป็นเชื้อเพลิงซึ่งเราเคยได้ยินข่าวมาหลายปีแล้ว แต่ทำไมวันนี้ถึงได้เงียบหายไป ถ้ามันดีจริงมันก็ควรจะเกิดขึ้น แต่เพราะสิ่งเหล่านี้ไปขัดผลประโยชน์กลุ่มนายทุนด้านพลังงานน้ำมัน เราจึงต้องใช้พลังงานสกปรกจากฟอสซิลกันจนวันนี้

หรืออย่างการส่งเสริมให้ใช้โซล่าเซลส์ในระดับครัวเรือนก็ยังไม่เกิดจริง เพราะนายทุนรายใหญ่ๆนั้นกุมชะตาเรื่องพลังงานเอาไว้หมดแล้ว ผูกขาดให้เราต้องซื้อเขาตลอดเวลา เราก็เลยมีข้อบังคับมากมายในการกีดกันไม่ให้โซล่าเซลส์ได้เกิดจริงในระดับครัวเรือน(กรณีนี้เหมือนอเมริกาไม่มีผิดเลย) หรือเอาง่ายๆ หลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงทรงดำริเอาไว้เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ตอนนี้ก็ยังไม่เกิดเป็นรูปเป็นร่างเสียที จะมีก็แต่ในภาคประชาชนที่ตื่นตัวกับภัยเศรษฐกิจกลุ่มเล็กๆเท่านั้น ส่วนรัฐบาลก็ทำแค่ประกาศปากเปล่าผ่านสื่อออกมาให้ดูดี เสร็จแล้วก็ดำเนินการไปในทางที่เอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนเหมือนๆเดิมในทุกรัฐบาล

เราต้องพึ่งถ่านหิน (และอาจจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอีกไม่นาน) และต้องพึ่งก๊าซธรรมชาติพึ่งน้ำมันเป็นแหล่งพลังงานหลักกันอยู่ทุกวัน ซึ่งพลังงานสกปรกเช่นนี้สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมอย่างมาก แล้วลองพิจารณาดูว่าการเมือง สงคราม และการเบียดเบียนทางเศรษฐกิจที่มีทุกวันนี้มันได้สร้างสิ่งที่ดีสำหรับมนุษยชาติแล้วจริงๆหรือ หรือเป็นสิ่งประดิษฐ์เป็นความซับซ้อนที่คิดค้นกันขึ้นมาเพื่อให้ผู้คนทั้งหลายต้องกลายเป็นทาสของวัตถุกันแน่

มันไม่ดีหรือ ถ้าเราจะไปที่ไหนก็โดยไม่ต้องกลัวอด เพราะมีคนพร้อมแบ่งปันอาหารและที่พักโดยไม่คิดเงิน และปฏิบัติต่อกันราวกับญาติสนิทมิตรสหาย ไม่มีแบ่งเขาแบ่งเรา ไม่ดีหรือถ้าเราจะไม่ต้องอยู่กันอย่างหวาดผวากลัวภัยอาชญกรรม กลัวภัยเศรษฐกิจ กลัวภัยธรรมชาติจากการผลาญทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป กลัวความจน กลัวไม่มีกิน กลัวไม่มีที่ซุกหัวนอน กลัวไม่มีเงิน กลัวไม่มีคนเลี้ยงตอนแก่ กลัวที่จะกลายเป็นคนไร้ค่า และได้ผลตอบแทนเป็นการอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีตึกรามใหญ่โตหรูหรา เพียงแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของเองเท่านั้น แค่รับจ้างมาขับเคลื่อนวัตถุสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นให้เกิดเป็นดอกผลงอกเงยเข้ากระเป๋าของคนไม่กี่คน แล้วก็ตายจากไปอย่างอนาถา เพราะดิ้นรนไม่หยุดตั้งแต่เกิดจนตายเท่านั้น

สิ่งที่นำเสนอนี้อาจจะดูเหมือนอุดมคติมากๆ แต่มันเริ่มเกิดขึ้นบนโลกนี้แล้วจากคนตัวเล็กๆที่ได้รับบทเรียนอันเจ็บปวดจากระบบทุน มันไม่ได้เริ่มจากรัฐบาลประเทศไหนในโลก เพราะรัฐบาลแทบจะทุกประเทศนั้นเป็นของนายทุนกันไปหมดแล้ว

การแก้ปัญหาที่ระบบจึงไม่ใช่ทางแก้ไขที่ถูกต้อง เพราะโดยแท้จริงแล้วระบบมันสร้างปัญหาให้มนุษย์ เราจะไปปฏิเสธธรรมชาติเดิมของมนุษย์แล้วดัดแปลงมนุษย์ให้เข้ากับระบบไม่ได้ การที่เราพยายาม"ดัด" จริตของมนุษย์ให้เข้ากับระบบอุตสาหกรรมหรือระบบทุนนั้นมันผิดธรรมชาติ ก่อให้เกิดปัญหามากมายนับตั้งแต่กายใจ ครอบครัว และสังคมโดยรวม การแก้ปัญหาที่แท้จริงจึงควรจะเป็นการกลับคืนสู่ธรรมชาติเดิมของมนุษย์ ระบบอะไรที่ขัดแย้งกับธรรมชาติกับโลกควรจะถูกกำจัดลง ไม่ใช่ไปพยายามทำให้ระบบดีขึ้นอีก มันเป็นเพียงการซื้อเวลาความล่มสลายเท่านั้นเอง ซึ่งความพยายามที่จะทำให้ระบบดีขึ้นในหลายสิบปีที่ผ่านมามันก็แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่า ระบบนั้นมันดีขึ้นสำหรับนายทุนไม่กี่คนบนโลกที่ใช้ในการกอบโกยความมั่งคั่งเท่านั้น แต่มันกลับกลายเป็นภัยคุกคามคนส่วนใหญ่บนโลกซึ่งมีสิทธิ์ที่จะได้อยู่อาศัยบนโลกนี้เหมือนๆกัน

ถึงเวลาแล้วครับ ถ้าเราไม่เปลี่ยนเสียเองในวันนี้ เราก็จะถูกสถานการณ์บีบให้เปลี่ยนอย่างเจ็บปวดในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น