วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เนื้อหาและหลักการของหมู่บ้านพอ ตอนที่ 1

ไร่ชุมชน (Community Farm) ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของชุมชนพึ่งพาตนเองแบบครบวงจรที่น่าสนใจ
ยังมีหลายคนที่ไม่เข้าใจว่า หมู่บ้านพอ คืออะไร แตกต่างจากหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร ทั้งในรูปแบบและเนื้อหา

ก่อนอื่นก็ต้องเท้าความกันสักนิดก่อนว่าหมู่บ้านพอนั้นมีต้นกำเนิดมาจากเนื้อหาพระสัจธรรมอันเป็นสากล ที่ว่าด้วยความเป็นมายาการของสรรพสิ่งบนโลกนี้ ซึ่งผู้ที่ฟังเนื้อหาพระสัจธรรมจนเกิดการปลงการวางอยู่ภายในแล้ว ตัณหาไม่กำเริบแล้ว ไม่แส่ส่ายไปหาเรื่องหาราวแล้ว ทุกๆอย่างมันจะโอเคไปเอง ความดิ้นรนมันก็จะไม่มี ทุกอย่างก็จะเป็นไปแค่อาศัยชั่วคราวเท่านั้น ไม่ได้หลงจริงจังกับสิ่งต่างๆอีก

เมื่อเข้าใจความเป็นจริงแห่งโลกแล้ว มันก็จะเข้าใจว่าอะไรที่มัน "เกินเลย" ไปจากการแค่อาศัย หรือเป็นไปเพื่อการสนองตัณหา(ความต้องการเทียม) ก็จะสามารถตัดทิ้งไปได้เกือบหมด เหลือเพียงแต่ความจำเป็นพื้นฐานจริงๆ ซึ่งจะทำให้ชีวิตง่ายขึ้นอีกเยอะ นี่คือที่มาของคำว่า "พอ" ซึ่งมันยิ่งกว่า "ความพอเพียง" ด้วยซ้ำ เพราะหากว่ายังดิ้นรนไปตามตัณหาอีกมันก็จะไม่รู้จักคำว่าพอ และไม่รู้จักพอเพียงไปด้วยพร้อมๆกันทันที

แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าธรรมแบบไหนคือสัจธรรม

สัจธรรมนั้นคือเนื้อหาของความคลี่คลายจากโมหะตัณหา ถ้าฟังธรรมแล้วคลี่คลายจากความวกวน คลี่คลายจากตัณหาอุปาทาน นั่นแหละคือเนื้อหาสัจธรรม แต่ถ้าฟังแล้วยังไปกระตุ้นโมหะตัณหาในการดิ้นรนแสวงหาไม่ว่าจะเป็นทางโลกหรือทางธรรม ธรรมนั้นก็ยังไม่ใช่สัจธรรมแท้ๆ ก็เป็นเพียงแค่โลกียธรรมที่เป็นไปเพื่อการเป็นการอยู่เท่านั้น

นอกจากสัจธรรมจะช่วยคลี่คลายความหมกมุ่นในตัณหาแล้ว สัจธรรมก็ยังเป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้ต้องไปหลงใช้ชีวิตแบบ "อ้อมค้อม" วกวนอีก มันก็จะตัดตรงสิ่งที่ไม่จำเป็นทั้งหมดออกไปเอง เหลือเพียงสิ่งจำเป็นเพื่อการอาศัยเท่านั้น ทำให้ชีวิตเรียบง่ายขึ้นเอง แค่นี้ชีวิตก็สงบสุขไปเองแล้ว โดยที่ไม่ต้องพยายามทำใจให้มันสมถะด้วยซ้ำ

ดังนั้นถ้าจะให้อธิบายเนื้อหาของหมู่บ้านพอ ก็น่าจะอธิบายด้วยสมการนี้โดยประมาณ

เนื้อหาสัจธรรม + หลักเศรษฐกิจพอเพียง = ระบบเศรษฐกิจแบบเกื้อกูล = ยุคศิวิไล

คือถ้าเอาเนื้อหาสัจธรรมออกไปจากสมการ มันก็ยังมีความดิ้นรนหลงเหลืออยู่ในระบบไม่ต่างจากอยู่ในระบบทุนนิยม ซึ่งยังไม่สามารถรองรับเนื้อหาสัจธรรมได้ เราจึงนำโมเดลข้างต้นนี้ มาเป็นโมเดลหมู่บ้านพอ คือ จริงๆทุกอย่างเมื่อพอแล้ว มันก็จบที่ใจ มันก็จะไม่มีเงื่อนไขให้ต้องดิ้นรนไปหาเรื่องหาราวอีกต่อไป ความเป็นอยู่ต่างๆก็จะเรียบง่ายไปเอง

หมู่บ้านพอนี้ในเบื้องต้นจะเรียกว่าเป็นแนวคิดก็ได้ หลักการก็ได้ จะนำไปปรับใช้ที่ไหนก็ได้ ในรูปแบบใดก็ได้ แต่ก็ให้มีเนื้อหาสัจธรรมและหลักเศรษฐกิจพอเพียงรองรับเอาไว้ ไม่ว่าจะตรงไหนของโลกก็สามารถเป็นหมู่บ้านพอได้ทั้งหมด

และในที่นี้ เราพิจารณาแล้วว่าการทำเกษตรธรรมชาติเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์และรองรับเนื้อหาของหมู่บ้านพอได้ดีที่สุด ในการพึ่งพาตนเองและเป็นหลักในการเกื้อกูลผู้อื่นไปด้วยในตัว และยังเป็นแนวทางให้ผู้คนด้อยโอกาสหรือผู้ที่เบื่อหน่ายทั้งหลายได้ออกมาจากวงจรกดขี่กดดันทางเศรษฐกิจด้วย

ระบบทุนนิยมที่ครอบงำโลกทั้งโลกอยู่ทุกวันนี้นั้น เต็มไปด้วยความบีบคั้นดิ้นรน เพราะมันเกิดจากพื้นฐานความโลภ การกอบโกย ความไม่เพียงพอ ความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ ความเฉพาะเจาะจงไม่กว้างขวาง ความไม่เกื้อกูลแก่กันและกัน มันจึงมีคนที่อดอยาก ยากจน คนชายขอบ อาชญกรรมมากมาย ซึ่งคนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่ถูกครอบครองโดยระบบทุนได้ และอำนาจรัฐก็มักจะเอื้ออำนวยให้แก่นายทุนก่อนเสมอ ทั้งๆที่โลกนี้ก็ไม่เคยคิดค่าเช่าในการดำรงอยู่ของทุกคน ความคับแคบบีบคั้นจึงเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนระบบทุน เพราะระบบทุนอยู่ได้โดยความทุกข์ความดิ้นรนของผู้คนในระบบ เพราะความทุกข์จะทำให้ผู้คนหาทางบรรเทาทุกข์ด้วยการซื้อๆๆๆๆ แล้วระบบก็ล่ามเราด้วยหนี้ ให้เป็นทาสเพื่อขับดันระบบไปจนตาย

ซึ่งถ้าทุกคนสุขสบายดีไม่มีใครต้องเดือดร้อนจากการถูกบีบคั้น ก็จะไม่มีใครดิ้นรน เมื่อนั้นเศรษฐกิจก็จะไม่หมุนเวียน นายทุนก็จะดูดซับหรือปั่นความมั่งคั่งจากระบบไม่ได้ ระบบทุนนิยมจึงเป็นเรื่องของปลาใหญ่กินปลาเล็ก สร้างโอกาสเพื่อฉวยโอกาสเท่านั้น ไม่ใช่เป็นระบบเพื่ออารยธรรมมนุษย์หรือเพื่อสังคมมนุษย์แต่อย่างใด

แต่การที่เราจะไปต่อต้านทุนนิยมก็ไม่ใช่เรื่องครับ ระบบมันมีอยู่อย่างนั้น ใหญ่โตเกินกว่าจะล้มอย่างรวดเร็ว และมันกำลังทำลายตัวเองในอัตราเร่ง ไม่ต้องไปพยายามทำลายมัน แต่มันทำให้เราคิดถึงหลักการที่ดีกว่าระบบทุน ไม่ใช่ทุนนิยม ไม่ใช่สังคมนิยม ไม่ใช่อนาธิปไตย ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ แต่เป็นหลักการที่อิงจากธรรมชาติเดิมของมนุษย์ ที่โดยเนื้อหานั้น ทุกคนเป็นคนดีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ เพียงแต่ว่าสภาพแวดล้อมต่างๆมันเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดกิเลสตัณหาอุปาทานชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งมันสวนทางกับความเชื่อของระบบทุนโดยสิ้นเชิง
ที่ต่างประเทศ ได้มีโครงการในลักษณะเกื้อกูลเกิดขึ้น เป็นโครงการที่ชื่อว่า Food is Free Project

เนื้อหาหลักของหมู่บ้านพอนั้นไม่ใช่เรื่องเงิน เพราะเงินไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง แต่เป็นการแก้ปัญหาที่รากเหง้า ล้างสมมติที่มันยึดมันหลงกันผิดๆมานานทิ้งไป เริ่มกันใหม่โดยใช้มนุษย์เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เงิน ไม่ใช่ทุน ไม่ใช่ความร่ำรวยที่แท้จริง คือถ้าจะว่ากันด้วยเรื่องเงิน สมมติถ้าเรามีเงินมากแต่คนส่วนใหญ่อดอยากปากแห้ง ถึงที่สุดแล้วความคับแค้นความบีบคั้นที่ผ่องถ่ายจากเราไปให้คนอื่นแบกแทนด้วยค่แรงที่ถูกกว่า มันจะเป็นสาเหตุทำให้อยู่กันไม่ได้ทั้งระบบครับ จะล่มไปพร้อมกันหมด คนรวยก็จะเดินถนนไม่ได้ ในขณะที่อาชญกรรมจะเต็มเมืองไปหมด อันนี้ไม่ได้ยกเมฆขึ้นมาเอง แต่นักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการหลายสำนักในต่างประเทศก็ทำนายไปในแนวทางเดียวกัน

แนวทางของหมู่บ้านพอนั้น เราจะคืนสภาพให้โลกนี้เป็นบ้านของทุกคน บ้านที่เราจะไปไหนก็มีแต่ญาติ มีแต่เพื่อน บ้าน ไม่มีกำแพงขวางกั้นมนุษย์ออกจากกัน ไม่มีความบีบคั้น ไม่มีความขัดแย้ง ไม่คับแคบแร้นแค้น ไม่มีคนชายขอบ เป็นหมู่บ้านโลก ไม่ใช่หมู่บ้านในนิยามสมัยใหม่ที่คับแคบไปด้วยกำแพงสูงตระหง่าน อยู่กันแบบตัวใครตัวมัน พร้อมกับกล้องวงจรปิด ระบบการรักษาความปลอดภัยเต็มพิกัด ที่มีบ้านหรูหราเพียงเพื่อปลอบประโลมในผู้อาศัยให้ลืมความคับแคบในนั้น แถมยังต้องอยู่กันอย่างหวาดกลัวแม้แต่ในบ้านตัวเอง

ทรัพยากรของโลกนั้นมีพอสำหรับทุกคน แต่มันไม่พอที่จะให้คนจำนวนน้อยกอบโกยไปเป็นของตัวเองทั้งหมดด้วยความโลภ ซึ่งที่สุดของทุนนิยมก็คือการเบียดเบียนเอากับเพื่อนร่วมโลก ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อเอาไปสร้างความมั่งคั่งเกินความจำเป็นให้ตนเอง มันจึงเป็นเหตุให้ไม่ "พอ" ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เมื่อระบบไม่สมดุล มันก็จะนำไปสู่การล่มสลายในที่สุด เพียงแต่รอว่าเมื่อไหร่ที่ระบบทุนจะต้านทานความเสื่อมไม่ไหวเท่านั้นเอง

ทุกวันนี้มีคนกลุ่มเล็กๆในโลก เริ่มไม่เอาระบบทุนนิยม กระแสทำลายระบบทุนนิยมเริ่มเกิดขึ้นในชาติตะวันตกที่เขาไปถึงสุดทางของทุนนิยมก่อนเรา ซึ่งมันพัฒนามาจากกระแสการต่อต้านทุนนิยมเมื่อหลายปีก่อน เพราะผู้คนกลุ่มเล็กๆนี้ตระหนักแล้วว่า ทุนนิยมกำลังทำลายโลก ทำลายอารยธรรมของโลก และจะทำให้สังคมล่มสลายในที่สุด ถึงขนาดที่มีการถกเถียงกันเพื่อหาโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่เพื่อมาแทนที่ทุนนิยมกันแล้วในต่างประเทศ นอกจากนั้นก็เริ่มมีการรวมกลุ่มเป็นระบบเศรษฐกิจพึ่งพาตนเองขนาดเล็กแล้วในบางประเทศ

แนวทางของหมู่บ้านพอนั้นมีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาทุกอย่างที่ระบบทุนแก้ไขไม่ได้ หรือไม่ต้องการจะแก้เพราะมันเป็นช่องทางหากินของใครบางคนที่ต้องสงวนไว้ จนทำให้เกิดเงื่อนไขที่ไปปิดกั้นปิดบังการแก้ปัญหาที่แท้จริง โลกที่มันเคยกว้างๆมันก็แคบลงเพราะการจำกัดสิทธิ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

พูดตรงๆว่าอย่าไปหวังให้ผู้มีอำนาจมาเริ่มให้เราเลยครับ เราต้องเริ่มด้วยตัวเอง เริ่มด้วยการฟื้นฟูศักยภาพในการพึ่งพาตนเองให้กลับมา ซึ่งมันหมายถึงอำนาจเหนือชีวิตเราที่ไปฝากไว้กับคนอื่น ก็จะคืนกลับมาเอง

เราคิดหาแนวทางนี้ขึ้น โดยล้างไพ่ใหม่หมด แก้ปัญหากันที่รากเหง้าแบบที่ใครก็ไม่กล้าแตะ เพราะตัวเองก็ยืนอยู่บนปัญหานั้น โดยเราจะไม่เอาระบบทุนเข้ามามีอิทธิพลในสมการ (ไม่ได้ต่อต้านนะครับ ต่างคนต่างอยู่ สัมพันธ์กันได้บ้างเป็นบางครั้งเมื่อจำเป็น แต่เราจะไม่ให้อิทธิพลของทุนเข้ามามีอำนาจเหนือเรา) เพราะเราแก้ปัญหาทุกอย่างบนพื้นฐานพระสัจธรรมและความเป็นมนุษย์ที่ไม่ควรจะต้องมาอยู่กับอย่างแร้นแค้น เบียดเบียนกันเหมือนสังคมสัตว์เดรัจฉานเช่นทุกวันนี้

สังคมมนุษย์ควรจะเป็นสังคมที่เกื้อกูลกันในทุกมิติ ทุกระดับชั้น ไม่ใช่การแบ่งแยก ไม่ใช่การบีบคั้น ไม่ใช่สนตะพายคนอื่นเพื่อความสุขสบายของตน ไม่ใช่การไปขึ้นกับตัวเลข GDP อะไรไร้สาระแบบนั้น และถึงที่สุดคือ ไม่ควรขึ้นกับเงินในกระเป๋าด้วยซ้ำไป เพราะทุกๆคนก็มีสิทธิ์บนโลกใบนี้เท่าๆกัน

และที่สุดแล้วพวกเราทั้งหลายก็จะอยู่บนโลกนี้แค่ช่วงเวลาสั้นๆเท่านั้นเอง แล้วก็ต้องตายจากกัน ไม่ว่าจะเร่งให้มีลูกหลานอีกกี่รุ่นกี่เหล่าออกมารรับช่วงต่อก็ต้องตายจากกันไปจนหมด เอาอะไรไปจากโลกนี้ไม่ได้เลยแม้แต่คนเดียว แล้วเราจะทำให้มันบีบคั้นอยู่ยากกันไปทำไมอีกเล่า

อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นง่ายๆ ถ้ายุคนี้ไม่ใช่ปลายยุคทุนนิยม ที่ผู้คนส่วนใหญ่กำลังถูกบีบคั้นจากระบบ จนเริ่มตาสว่าง แนวทางของหมู่บ้านพอก็คงไม่อาจจะเกิดขึ้นในวันนี้ และอยากจะบอกว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่เร็วทันใจนะครับ เพราะสิ่งนี้จะเริ่มต้นขึ้นแบบเล็กๆ จากคนไม่กี่คน ทำให้เป็นแบบอย่าง แล้วปล่อยให้เนื้อหาเหล่านี้แผ่ขยายไปยังในแต่ละหมู่เหล่าเองโดยความสมัครใจ โดยที่เราจะไม่โฆษณาหรือประชาสัมพันธ์เชิญชวนอะไรเลยไม่ อย่างนั้นกิเลสตัณหาอันเกิดจากคำเชิญชวนนั้นอาจจะทำให้ผู้คนเข้าใจหมู่บ้านพอผิดไปจากความเป็นจริงได้

สิ่งที่เราทำได้ก็แค่บอกเล่าสิ่งที่เราคิดเราทำให้ทุกท่านฟัง เพราะเรื่องแบบนี้ใช่ว่าทุกคนจะรับได้ ต้องให้ซึมซับและเรียนรู้จากประสบการณ์จริงก่อนจึงจะเกิดปัญญาเข้าใจในสิ่งที่เราสื่อสารออกไปได้ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ชั่วอายุคนในการเปลี่ยนผ่าน หรืออีกทีก็อาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ ถ้าผู้คนในระบบทุนนิยมเริ่มสำนึกได้ว่าระบบกำลังทำลายอารยธรรมมนุษย์แล้วก็กลับตัวกลับใจเสีย สิ่งเหล่านี้ยังไม่แน่นอนเสียทีเดียวนัก เราจึงเป็นเพียงแนวทางหนึ่งที่เป็นแค่ทางเลือกอันนอกเหนือจากระบบทุนนิยมก็แล้วกัน อย่างน้อยถ้าแนวทางนี้มาแรงจริงๆ ทุนนิยมก็อาจจะลดละเลิกความสามานย์กันลงได้บ้าง

ตอนต่อไปจะมาเล่าเรื่อง ระบบเศรษฐกิจแบบเกื้อกูล ให้อ่านกันครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น