วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ต้นทุนของความมี และ คำตอบสำหรับทุกปัญหา

ผมเชื่อว่าทุกคนที่เรียนจบมาทำงาน คงอยากจะมีรถขับไปทำงานกันทุกคน เพราะรถติด รถเมล์ก็ไม่ค่อยมา บริการก็ไม่ดี คนก็เยอะ เหนื่อยก็เหนื่อย ถ้ามีรถขับไปทำงานน่าจะดี

ว่าแล้วก็ไปหาซื้อรถด้วยเงินผ่อน ให้เขากินดอกเบี้ยไป ส่วนเราก็ทำงานหาเงินมาวิ่งไล่จ่ายค่างวดรถ ก่อนจะมีรถก็คิดฝันหวานว่ามีรถแล้วจะไปนั่นไปนี่ พอมีเข้าจริงๆ ไหงดันมีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นมาเพียบแบบไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมันรถที่มีแต่จะแพงขึ้น ที่เคยบ่นว่ารถติด พอออกรถก็ต้องมาติดเหมือนเดิม  ค่าประกัน ค่าซ่อมบำรุง ค่าที่จอดรถ ค่าดูแลรักษารถ ค่าแต่งรถ ค่าใช้จ่ายในการเที่ยวแต่ละครั้ง อันเกิดจากการที่สะดวกเที่ยวมากขึ้น สุดท้ายแทนที่จะมีรถแล้วจบ มันกลับพาเราเข้าสู่วังวนค่าใช้จ่ายอันเป็นต้นทุนแฝงที่มากับความอยากได้อยากมี คนที่แบกได้ก็แบกกันไป มีเงินมากหน่อยก็บ่นน้อยหน่อย มีเงินน้อยหน่อยก็บ่นมากหน่อย แต่ทุกคนที่อยากได้อยากมี ล้วนแล้วต้องตกเป็นทาสของสิ่งที่ตนหามาทั้งนั้น ทิ้งก็ไม่ได้ ต้องหาเงินมาจ่ายต้นทุนแอบแฝงต่างๆไปเรื่อย เหนื่อยก็พักไม่ได้เพราะต้นทุนแฝงนี้เติบโตขึ้นทุกวัน เผลอๆบางทีมันจะเติบโตเร็วกว่าเงินรายได้ของเราด้วยซ้ำไป

ไม่ใช่แค่รถนะครับ ทุกอย่างที่เราอยากได้อยากมีนั้น ล้วนเป็นการเชิญชวนให้ต้นทุนแฝงในชีวิตวิ่งเข้ามาหาเราไม่หยุดหย่อนทั้งนั้น

เพราะอะไร?

เพราะทุกวันนี้เราอยู่ในลัทธิบริโภคนิยมเต็มรูปแบบ มีอะไรก็ต้องซื้อ แล้วผู้ผลิตสินค้าเขาคิดการณ์ไกลไว้ล่วงหน้าแล้วตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ หรือประมาณ เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด คุณก็ต้องซื้อๆๆๆๆๆๆ อย่างอาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะคุณเป็นต้นไม้ที่เติบโตบนพื้นดินแห่งทุนนิยม ไร้รากเหง้าที่จะเชื่อมต่อกับโลกกับธรรมชาติอีกต่อไป

เมื่อทุกอย่างถูกฝากเอาไว้กับผู้ผลิตสินค้าและผู้ให้บริการต่างๆ มันก็เหมือนฝากกระเป๋าเงินเอาไว้กับเขานั่นแหละครับ คือจะหยิบเงินเท่าไหร่ออกจากกระเป๋าเราได้ง่ายมาก เพราะเดี๋ยวสินค้าต่างๆมันก็ขึ้นราคา ลดขนาดสินค้า ลดคุณภาพของสินค้า ขณะที่ราคาก็ขึ้นเอาๆ เราก็ถูกบีบเอาๆ เพราะทำใช้เองไม่ได้ ต้องพึ่งพาเขาตลอด ยิ่งสินค้าเทคโนโลยีนี่ตัวดีเลย เพราะมันซับซ้อนชวนงง ในขณะที่ผู้คนในลัทธิบริโภคนิยมกลับ โง่ลงๆ ทำอะไรก็ไม่ค่อยเป็น เป็นแต่เลือกและจ่ายเงิน เขาเลยอาศัยช่องทางนี้ในการผูกขาด ฉ้อฉล และหลอกลวงจากความที่มันซับซ้อนจนเราไม่สามารถเข้าใจได้นี่แหละ เพื่อมาหลอกขูดรีดเอาจากเรา

การแก้ปัญหาใดๆในโลกจึงไม่ใช่วิ่งไปข้างหน้าเรื่อยๆ ไม่ใช่หาวิธีแก้ไขไปเรื่อย เพราะไอ้เส้นทางที่เราวิ่งไปเรื่อยๆนั้น มีคนคอยชี้ทาง คอยดักทางเราอยู่แล้วตลอดเวลา เหมือนทางหลอกให้เราเดินอ้อมจุดหมายเพื่อจะได้ผ่านร้านค้ามากขึ้น สุดท้ายก็ไปไม่ถึงปลายทางเสียทีเพราะมันพาเราหลงไปจากจุดหมายจริงๆเพื่อไปซื้อสินค้าและบริการเสียนี่

เราจึงต้องมาตั้งคำถามกับตัวเองจริงๆว่า การแก้ปัญหาอย่างนี้ไปเรื่อยๆไม่รู้จบ สิ่งนี้มันใช่การแก้ปัญหาจริงๆหรือไม่ แล้วทำไมแก้ปัญหาแล้วปัญหาใหม่ก็ยังเกิดขึ้นอีก มันต้องมีอะไรผิดพลาดแน่ๆ

นอกจากนั้น เราควรจะมาตั้งคำถามกันด้วยว่า สุดท้ายแล้ว ไอ้ความต้องการที่มากมายของเรานั้น มันมาจากเราเองหรือถูกยัดเยียดมาจากโฆษณาให้ต้องวิ่งตามมัน

ยกตัวอย่างนะครับ ทีวี ทุกวันนี้ ทีวีรุ่นใหม่ๆ ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ ความละเอียดสูงขึ้นเรื่อยๆ เทพขึ้นเรื่อยๆ แต่ถามว่าเราจะเอาละเอียดไปไหน ในเมื่อตาของเราก็รับภาพได้เท่านี้ หูของเรารับฟังเสียงได้เท่านี้ เราจะหลงไล่ตามผู้ผลิตกันไปได้แค่ไหน หรือมือถือ smart phone เหมือนกัน มันมีคุณสมบัติที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ไอ้ที่ว่า "ดีขึ้น" นั้น ทำไมมันไม่ได้ทำให้ชีวิตเราดีขึ้นจริงๆล่ะ ทำไมดึงเวลาของเราไปหมดเลย

ผมเองก็ไม่เคยล่วงรู้ถึงกลไกอันซับซ้อนของการล่อลวงในระบบบริโภคนิยมจนกระทั่งมารู้จักคำว่า "พอ" ครับ

"พอ" นี้เองคือคำตอบสำหรับทุกปัญหา เพราะเมื่อพอแล้วมันก็ไม่ต้องดิ้นรน ร้อนรน เมื่อไม่ดิ้นรนก็ไม่ทุกข์ "พอ"เมื่อไหร่ก็ไม่ต้องไปคิดหาทางเบียดเบียนผู้อื่นเพื่อเอาเงินทองมาประเคนให้ผู้ผลิตสินค้าที่คอยแต่จะหลอกให้เราบริโภคทั้งๆที่เราไม่ได้ต้องการมันจริงๆ

ผู้ผลิตสินค้าและนายทุนทั้งหลายล้วนแล้วแต่เอาความลับลวงพรางของนิยามแห่งความสุข มาล่อลวงเราให้ดิ้นรนแสวงหาความสุขที่เขาผลิต แม้สุดท้ายสิ่งที่เราซื้อมามันก็ไม่ได้ให้ความสุขที่แท้จริงกับเราเลยแม้แต่นิดเดียว

เพราะความสุขที่ว่านี้ไม่มีจริง มันเป็นเรื่องของความคาดหวังและการสนองความคาดหวังเท่านั้น พอสนองเสร็จมันก็จะแสวงหาความคาดหวังอีกไม่รู้จบ เป็นอย่างนี้มันก็ไม่สุขจริงหรอกครับ

ในเมื่อความสุขจริงๆมันไม่มี การไปดิ้นรนหาความสุขนั่นแหละคือ ความทุกข์อย่างแท้จริง แล้วดูระบบที่บีบให้เราดิ้นรนสิครับ มันจะให้ความสุขได้จริงเสียที่ไหนเล่า จะให้สุขจริงๆ มันก็แค่ให้พ้นจากทุกข์ครับ ทุกข์จากความดิ้นรนแสวงหาสิ่งต่างๆมาเพื่อความสุข ให้พ้นจากทุกข์ตัวนี้ มันก็จะหมดความดิ้นรนไปเอง สงบสุขไปเอง เพราะใจที่ดิ้นรนแข่งขันไม่พอเพียง ไม่เพียงพอนั่นแหละคือ ตัวต้นแห่งทุกข์เลยครับ

ยิ่งเรามีสิ่งต่างๆมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็ต้องรับผิดชอบกับความเสื่อมของมันมากขึ้นเท่านั้น ความจริงของการครอบครองทรัพย์สินมากมายมันเป็นเช่นนี้ ยิ่งมีมากก็ยิ่งแบกมาก ยิ่งแบกมากก็ต้องยิ่งเอาเงินจ้างมาคนอื่นแบกภาระแทนตนมากขึ้น แล้วก็ต้องวิ่งหาเงินมาแบกคนที่เราจ้างให้มาแบกภาระของเรามากขึ้นไปอีก ตรรกะแบบนี้คือการทำให้ตัวเองทุกข์ทั้งนั้นครับ มากเรื่องมากความ มากคนมากความ หรือว่าไม่จริง

ดังนั้นการแก้ปัญหาทั้งหมดนั้น จะมาจบลงที่คำว่า "พอ" ครับ ไม่ว่าคุณจะเหนื่อยรากเลือดกับการต่อสู้ได้มามากมายเท่าไหร่ นานแค่ไหน มันจะจบลงที่คำว่า "พอ" ครับ เพียงแต่ว่าแต่ละคนนั้นมีวงรอบของการเรียนรู้ความเป็นจริงนี้แตกต่างกันไป บางคนอ่านบทความนี้แล้วก็ไม่เชื่อ ก็จะไปดิ้นรนต่อจนหมดแรง แล้วสุดท้ายมันก็จะเข้าสู่บทสรุปว่า "พอ" ไปเองในที่สุด ชนิดที่ไม่ต้องท้าพนันก็เป็นจริงตามนี้ครับ

คนเราน่ะกินข้าวแค่ 3 มื้อต่อวัน ที่หลับที่นอนก็นิดเดียว แล้วจะกระเสือกกระสนดิ้นรนพยายามครองโลกเอาไว้ทำไมให้เหนื่อยเปล่าล่ะครับ

1 ความคิดเห็น: